ประวัติพระครูประสิทธิ์นวกรรมอดีตเจ้าอาวาสวัดนวลจันทร์(บางขวด)
เดิมท่านชื่อ นาย บำรุง ขำประสิทธิ์ มีพี่น้อง ๘ คน ท่านเป็นคนที่ ๓ เสียชีวิตไปแล้ว ๒ คน เหลือ ๖ คนพี่น้อง
*บิดาชื่อว่า นาย แม้น ขำประสิทธิ์ *มารดาชื่อว่า นาง จันทร์ ขำประสิทธิ์
เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ ณ. บ้านเลขที่ ๑๐ หมู่ ๑๕ ตำบลลาดพร้าว อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) จบการศึกษา มัธยม ๖ โรงเรียนสารวิทยา พ.ศ. ๒๕๐๓
อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๙ ณ.วัดนวลจันทร์ (อายุ๒๓ปี)
• พระอุปัจฌาย์ พระครูคุณสารโสภณ
• พระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดหุ่น (หลวงปู่หุ่น)
• พระอนุสาวนาจารย์ พระมหาแหวน
การศึกษาทางธรรมท่าน จบนักธรรมเอกปี พ.ศ. ๒๕๑๘ จากสำนักเรียนกรุงเทพมหานคร ท่านดำรงตำแหน่งการปกครองต่อจาก พระปลัดหุ่น(หลวงปู่หุ่น) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ในปีที่ พระปลัดหุ่นท่านมรณภาพปี พ.ศ. ๒๕๑๑ การปกครองในวัดก็ว่างลงมีพระรักษาการต่อ เท่าที่ทำการบันทึกไว้มี ๒ รูป คือ พระอาจารย์ผล และ พระอาจารย์ปาน
ผู้เขียนเองก็ทันเห็นท่านอยู่ทั้ง ๒ รูป เมื่อพระอาจารย์ บำรุง ดำรงตำแหน่งการปกครอง ท่านก็พัฒนาวัดเรื่อยมามีศาลาปริยัติธรรม ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ แล้วท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอธิการบำรุง อยู่จนถึงเป็นพระครูสังฆรักษ์ บำรุง เมื่อวันที่ ๑มกราคม ๒๕๒๓ เป็นฐาณานุกรมของ พระราชรัตนเมธีเจ้าคณะเขตบางกะปิ และปีต่อมาท่านได้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทที่พระครูประสิทธ์นวกรรม ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ในขณะนั้นผู้เขียนบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ และคอยช่วยเหลือท่านอยู่ในขณะนั้น ท่านมีเมตตาชงกาแฟให้ผู้เขียนฉันท์ทุกวัน “ในปีเดียวกันผู้เขียนเองก็ได้ลาสิกขา ท่านยังเมตตาให้เงินผู้เขียนซื้อกางเกงอีกด้วย” ท่านพัฒนาวัดมาตลอด จนกระทั่งผู้เขียนเอง กลับมาอุปสมบทก็มาช่วยท่านพัฒนาวัดอีกในส่วนตัวที่ได้สัมผัสกับท่านมาถือว่าเป็นเวลายาวนานมาก ท่านเป็นพระที่มีศีลาจารวัตร งดงามมาก ผู้อื่นอาจมองว่าท่านเป็น “พระดุ” ไม่กล้าเข้าไกล้ ในส่วนการพัฒนาผู้เขียนได้อธิบายไว้ในประวัติวัดนวลจันทร์แล้ว ท่านเป็นพระนักทำเหมือนชื่อของท่านคือ พระครูประสิทธ์นวกรรมก็คือนักพัฒนา ท่านมีความสามารถหลายอย่าง ตั้งศาลก็ได้เพราะท่านได้เล่าเรียนมา พิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ ท่านสามารถทำได้โดยไม่ติดขัด และทำการบันทึกเก็บรักษาไว้ ผู้เขียนเองยังได้ศึกษาย้อนหลังอีก และท่านก็พัฒนาวัดจนกระทั่งวาระสุดท้าย ท่านยกเสาศาลากาลเปรียญ หลังใหม่ไว้ให้ และได้อนุญาติให้เปิดศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์ภายในวัดและได้เปิดทำการสอนตั้งแต่ วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ ๒๕๒๗ อีกด้วย ดังคำที่ว่าเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรดา ทุกคนหนีไม่พ้นแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ตาม และในวันพุธที่ ๒๘กันยายน ๒๕๔๘ในวันนั้นถ้าผู้เขียน มีญาณหยั่งรู้หรืออะไรก็ตามแต่ จะเดินเข้าไปถามท่านทุกอย่างที่อยากรู้ และในสิ่งที่ท่านอยากจะทำแต่ก็ทำได้แค่คิดเท่านั้น ในวันนั้นผู้เขียนเดินผ่านท่านออกมาทำงานในสำนักงานเหมือนเดิม ท่านพระอาจารย์ออกมากวาดลานวัดตัดต้นไม้แต่เช้าเลย และไม่นึกว่าจะเป็นวันสุดท้ายที่ผู้เขียนจะได้เห็นท่าน พอตอนเย็นสักประมาณราว ๑๗.๐๐ น. ลูกศิษย์วิ่งมาตามว่าพระอาจารย์หายใจไม่ออกตัวผู้เขียนทิ้งงานรีบวิ่งไปดูท่านในกุฏิทันที พอไปถึงผู้เขียนทำอะไรไม่ถูกตกใจไม่นึกว่าพระอาจารย์ จะเป็นหนักขนาดนี้ แต่ก็ช่วยกันยกท่านขึ้นรถลูกศิษย์ส่งโรงพยาบาลสินแพทธ์ แต่อาการท่านเป็นหนักมากทางโรงพยาบาลสินแพทธ์ก็นำท่านส่งต่อโรงพยาบาลรามคำแหงเพราะเป็นศูนย์โรคหัวใจโดยตรง ผู้เขียนนั่งรถโรงพยาบาลนำท่านส่งโรงพยาบาลรามคำแหงเป็นการด่วนมากเปิดไฟนำทางไปตลอด มีคำถามเกิดขึ้นในใจของผู้เขียนมากมายขออย่าได้ให้พระอาจารย์เป็นอะไรไปเลยภาวนาทุกอย่างจนถึงโรงพยาบาลวิ่งตามรถเข็นพระอาจารย์เข้าห้องไอ ซี ยู โดยไม่อายใครเลย ในขณะนั้นนั่งเฝ้าภาวนาขอให้พระอาจารย์อย่าได้เป็นอะไรขอให้หายกลับมาปฎิบัติภารกิจ และศาสนากิจเหมือนเดิม นั่งอยู่ราวประมาณ ๒๓.๐๐ น. ก็กลับมาวัดโดยมีคำถามมากมายกลับมาด้วย และในวันพฤหัสบดี ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ตอนเช้าหลังจากได้รับข่าวจากโรงพยาบาลว่า พระอาจารย์อาการไม่ได้ดีขึ้นเลยตั้งแต่เมื่อคืนหลังผู้เขียนกลับมาแล้วและเวลา ๐๘.๓๐ น. พระอาจารย์ก็จากพวกเราไปโดยไม่มีวันกลับมาอีกเลย ผู้เขียนไปนำร่างท่านกลับมาที่วัดด้วยตัวผู้เขียนเองและนำท่านมาสวดพระอภิธรรมในวันนั้นเลย เป็นที่อัศจรรณธ์มากเมื่อนำร่างท่านมาถึงและนำขึ้นวางบนศาลาก็เกิดฝนตกใหญ่ไม่ยอมหยุดเหมือนว่าฟ้าเทวดารับรู้ว่าร่างของพระอาจารย์กลับมาวัดแล้ว และในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๘ ตรงกับวันศุกร์ก็มีพิธีน้ำหลวงสรงศพและ ทำพิธีบรรจุลงหีบทองทิบในพิธิหลวงและญาติโยมมารดสรงน้ำสรีระของพระอาจารย์มากมายจนเย็น และในวันนั้นผู้เขียนเองก็ต้องรับภาระรักษาการแทนต่อจากพระอาจารย์ และทำหน้าที่ของลูกศิษย์เต็มกำลังความสามารถ สวดพระอภิธรรมจนครบ ๖๓ คืน โดยไม่เหน็ดเหนื่อย ครบถ้วน ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน และหนึ่งปี โดยลำดับจนครบวาระทุกอย่าง และผู้เขียนจะขอจดจำทุกเรื่องที่พระอาจารย์สั่งสอนเป็นแนวทางปฎิบัติ และให้พระอยู่ในวัตรปฎิบัติ และพัฒนาสืบต่อไป ฉะนั้นขอคุณงามความดีในตัวท่านพระครูประสิทธ์นวกรรมที่ได้ทำมาตั้งแต่ต้นจนวาระสุดท้ายของท่านและบารมีสิ่งศักด์สิทธ์ของบูรพาจารย์ทุกองค์และเหล่าเทวดาทุกชั้น
จงนำพาวิญญาณของท่าน พระครูประสิทธ์นวกรรมสู่สัมปรายภพที่สูงที่สุดและสงบในปรโลกด้วยเทอญ ผู้เขียนได้บันทึกประวัติของท่านขึ้นมาเพราะความเคารพในตัวท่านมากยิ่ง และขอสืบเจตนาอันดีของท่านตลอดไป จนกว่าชีวิตของผู้เขียนจะดับไป
ด้วยความเคารพและรำลึกถึง
พระครูวินัยธรประเสียร อโนมคุโณ
เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
|