
พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ธรรม
ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ พระพุทธศาสนาจะครบ ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยคำนวณจากการนำปีพุทธศักราชที่เริ่มนับหลังจากการปรินิพพาน บวกด้วย ๔๕ พรรษา อันเป็นพรรษาที่สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ดำเนินพุทธกิจ ภายหลังจากการตรัสรู้จวบจนเสด็จดับขันธปรินิพพานการคำนวณจะนำปีพุทธศักราชที่เริ่มนับหลังจากการปรินิพพาน บวกด้วย ๔๕ อันเป็นจำนวนพรรษาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ดำเนินพุทธกิจ ภายหลังการตรัสรู้จวบจนเสด็จดับขันธปรินิพพาน (จำนวนปีการตรัสรู้ = ปี พ.ศ. + ๔๕) (ในวันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๕๕ สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ครบ ๒,๖๐๐ ปี หรือ ๒๖ พุทธศตวรรษ)
"พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ปีแห่งการตรัสรู้" ถ้าถือตามหลักการคำนวณปีพุทธศักราชแบบไทยอยู่ในช่วงระหว่างวันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๕๔ ถึงวันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๕๕ ทั้งนี้ ในวันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๕๔ (๑๗ พ.ค.) ที่ผ่านมานั้น เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ ๒,๕๙๙ ปีเต็ม และเริ่มเข้าสู่ปีที่ ๒,๖๐๐ แห่งการตรัสรู้
หัวใจของพระพุทธศาสนา
วันมาฆบูชา ถือว่าเป็นวันสำคัญ เรียกว่า วันมหาสันนิบาต หรือจาตุรงคสันนิบาต คือวันประชุมใหญ่อันประกอบด้วยองค์ ๔ คือ ๑.พระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นพุทธสาวก จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ๒.พระพุทธสาวกเหล่านี้ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ เป็นผู้ที่พระพุทธองค์ประทานการอุปสมบทด้วยพระองค์เอง
๓.พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ ๔.วันนั้นเป็นวันเพ็ญ เดือนมาฆะ คือพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ ในวันดังกล่าวพระผู้มีพระภาคทรงประกาศหลักธรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนาเหมือนรัฐธรรมนูญที่ใช้เป็นแม่บทสำคัญสูงสุดของประเทศ หลักธรรมสำคัญของพุทธศาสนา คือ การแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ เป็นประกาศหลักธรรมสำคัญอันเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อนำไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งมีหลักการที่สำคัญอยู่ ๓ ประการ ที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย
๑.สพฺพปาปสฺส อกรณํ คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่ การงดเว้น การลดละ และเลิกทำบาปทั้งปวง ซึ่งได้แก่อกุศลกรรมบถ ๑๐ ทางแห่งความชั่ว ๑๐ ประการ
๒.กุสลสูปสมฺปทํ คือ การยังกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำแต่ความดี ด้วยการให้ทาน รักษาศีล และเจริญจิตภาวนา พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปาฏิโมกเข จ สํวโร ได้แก่ การสำรวมกาย วาจา และใจ การรักษาศีล การรักษาวินัยอย่างเคร่งครัด ให้ทำแต่ความดี งดเว้นจากความชั่ว
๓.สจิตฺตปริโยทปนํ คือ การทำจิตใจของตนให้ผ่องใส ให้สงบปราศจากนิวรณ์ ซึ่งเป็นธรรมอันกั้นจิต ขัดขวางจิตของเราไม่ให้บรรลุ หรือไม่ให้เข้าถึงความดี